ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนบ้านกรวด เดิมอาศัยที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านกรวด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2470 โดยรองอำมาตย์โทขุนดนัย ประสาสน์ นายอำเภอประโคนชัย เป็นประธานการตั้งให้ชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลปังกู 2 (วัดบ้านกรวด)” เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปี
ที่ 4 โดยแต่งตั้งให้ นายแมน แซวประโคน เป็นครูใหญ่ ในปี พ.ศ.2481 ตำบลบ้านกรวดได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า “กิ่งอำเภอบ้านกรวด” จึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนประชาบาลบ้านกรวด (วัดบ้านกรวด) ต่อมากรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดสรรงบประมาณมาสมทบปลูกสร้างอาคารถาวร ตามแบบ ป.1 ขนาด 3 ห้องเรียน และย้ายจากศาลาการเปรียญวัดบ้านกรวด มาเรียนที่อาคารหลังใหม่ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2485 เป็นต้นมา ต่อมาทางราชการได้ตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “โรงเรียนบ้านกรวด”
ต่อมาเมื่อ นายเหรียญ ปราบริปู มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2486 ในระหว่างนั้นได้รับความร่วมมือจากคณะครูและภารโรง ในการทำบันไดโรงเรียนและตีฝาอาคารเรียนจนเสร็จเรียบร้อย จึงทำพิธีเปิดป้ายโรงเรียนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2486
ปี 2499 ได้รับคำสั่งให้เปิดเรียนชั้นมัธยมศึกษาขึ้น (ประถมปลาย) เริ่มเปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 ในปีแรกรับเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีจำนวนหนึ่งห้อง มีนักเรียนชายหญิงรวม 23 คน โดยอาศัยครูในโรงเรียนผลัดเปลี่ยนกันสอน
ปี 2500 กรมสามัญศึกษาให้งบประมาณ 50,000 บาท สร้างอาคารเรียน 1 หลังตามแบบแปลนของกรมสามัญศึกษา มี 3 ห้องเรียน แต่เนื่องจากมีสภาพทรุดโทรม ปัจจุบันจึงถูกรื้อถอน
ปี 2501 ได้รับความร่วมมือจากครูในโรงเรียนขุดสระน้ำ 1 สระเพื่อเอาดินถมสนามที่เป็นหลุมบ่อ และเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ และได้สร้างส้วมถาวร 2 หลัง 4 ที่ โดยนางคำพร
อนันตวิเชียร ได้สละเงินส่วนตัว จำนวน 1,200 บาท สร้างสนามเด็กเล่นพร้อมด้วยอุปกรณ์ 1 แห่ง
ปี 2506 ทางราชการเห็นความสำคัญและความจำเป็นของโรงเรียนชายแดน จึงให้งบประมาณพิเศษเพื่อสร้างอาคารถาวร 1 หลัง เป็นเงิน 100,000 บาท ขนาด 8 X 54 เมตร ห้องเรียน มีมุข 2 มุข
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2510 ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ให้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง เป็นเงิน 90,000 บาท ขนาด 3 ห้องเรียน แต่ผู้รับประมูลยินดีสร้างให้ 4 ห้องเรียน เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2510 เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2510
ปี 2516 ทางโรงเรียนได้อาคารเรียนถาวรเพิ่มขึ้นพอแก่จำนวนนักเรียนจึงรื้อถอนอาคารชั่วคราวกึ่งถาวรเพื่อเอาวัสดุไปสร้างเป็นโรงอาหารถาวรและให้กว้างขวางพอแก่จำนวนนักเรียนแต่ยังขาดวัสดุเป็นต้นว่า เครื่องเหล็ก ไม้ ปูน ทราย อีกมาก จึงได้ชักชวนครูในโรงเรียนและพ่อค้าประชาชนบริจาคทรัพย์หรือวัสดุก่อสร้างขึ้นแล้วลงมือสร้างตั้งแต่เดือน มิถุนายน
พ.ศ. 2516 เป็นอาคารชั้นเดียวพื้นลาดปูนซีเมนต์หลังคาแฝด เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2516 ได้อาศัยอาคารหลังนี้เป็นโรงอาหารและเป็นห้องประชุม ห้องจัดกิจกรรมในบางโอกาส และใน ปีนี้ ยังได้รับเงินงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างถังเก็บน้ำฝนแบบ ฝ. 33 จำนวน 1 แห่ง ด้วยเงินงบประมาณ 43,000 บาท (สี่หมื่นสามพันบาทถ้วน)
ปี 2538 โรงเรียนได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ สร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 105 / 29 อาคารเรียนคอนกรีต 2 ชั้น 10 ห้องเรียน ขนาดกว้าง 8.40 เมตร ยาว 45 เมตร งบประมาณทั้งสิ้น 2,400,000 บาท (สองล้านสี่แสนบาทถ้วน)
ปี 2541 วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคมเป็นวันเปิดเรียนวันแรก มีข้าราชการครูทั้งสิ้น 37 คน มีนักเรียน 858 คน ในปีนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนคือ นายนันทพงศ์ คงนันทะ ได้เริ่มก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กรอบบริเวณโรงเรียน โดยเริ่มก่อสร้างรั้วทางทิศตะวันออกก่อน และก่อสร้างเรื่อยมาจนแล้วเสร็จในปี 2543 รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 978,000 บาท (เก้าแสนเจ็ดหมื่นแปดพันบาทถ้วน)
ปี 2542 วันพุธที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันเปิดเรียนวันแรก มีข้าราชการครูทั้งสิ้น 37 คน มีนักเรียน 892 คน และในเดือนพฤษภาคมนี้เอง ทางโรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนบ้านกรวด” เป็น “โรงเรียนอนุบาลบ้านกรวด” ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มีนโยบาย การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ยกฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล และให้โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลเป็นโรงเรียนอนุบาล
ปี 2543 เปิดเรียนวันแรก วันที่ 1 พฤษภาคม 2543 มีข้าราชการครูทั้งสิ้น 33 คน จำนวนนักเรียน 948 คน และได้รับจัดสรรงบประมาณจากทางราชการ เมื่อเดือน เมษายน สร้างส้วมแบบ สปช. 601 / 26 จำนวน 1 หลัง 4 ที่ ด้วยงบประมาณ 101,000 บาท
ปี 2544 เปิดเรียนวันที่ 1 พฤษภาคม มีข้าราชการครูทั้งสิ้น 36 คน มีนักเรียน 946 คน และ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สร้างสนามกีฬาเอนกประสงค์ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ด้วยงบประมาณ 90,000 บาท (เก้าหมื่นบาทถ้วน)
ปี 2545 ในเดือนเมษายน ในช่วงปิดภาคเรียน นายนันทพงศ์ คงนันทะ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้สั่งนักการภารโรงปรับปรุงอาคารเอนกประสงค์หลังเล็กทางทิศเหนือ เป็นห้องสมุดประจำโรงเรียน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับครูและนักเรียน งบประมาณได้จากการขอบริจาคจากคณะครู อาจารย์ นักการภารโรง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 170,000 บาท (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาทถ้วน) นายนันทพงศ์ คงนันทะ เกษียณอายุราชการและมีคำสั่งแต่งตั้งให้ นางสุดสงวน คงนันทะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนรักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านกรวด
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2545 นายพิทยา ภักดีบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนนิคมพัฒนาสายตรี 2 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้มารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านกรวด (เพื่อรอคำสั่งย้าย) และในวันที่ 10 มีนาคม 2546 ตามคำสั่งสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง(ย้าย) นายพิทยา ภักดีบุตร มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านกรวด
วันที่ 9 พฤษภาคม 2551 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์เขต 2 ได้มีคำสั่งย้ายและแต่งตั้งให้นายสมพงษ์ รักพุดซา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกยางมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านกรวดแทน นายพิทยา ภักดีบุตร
ปี 2558 โรงเรียนอนุบาลบ้านกรวด ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สร้างอาคารเรียน สปช. 105/29 2 ชั้น 4 ห้องเรียน ใต้ถุนโล่ง จำนวน 1 หลัง
ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2559 นายสมพงษ์ รักพุดซา ได้เกษียณอายุราชการ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 2 ได้แต่งตั้ง นายอภิชาติ หวังสวัสดิ์ปรีชา ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านกรวด ตามหนังสือ สพป.บร.2 ที่ ศธ 04083/ว3816 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 และคำสั่ง สพป.บร.2 ที่ 383/2559 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2559
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 นายอภิชาติ หวังสวัสดิ์ปรีชา ได้เดินทางมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านกรวด จนถึงปัจจุบัน